สมาคม Thai Startup จับมือรัฐ – เอกชน – สมาคม กว่า 40 องค์กร ร่วมติดปีกสตาร์ทอัพไทย
สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ “Thai Startup” เผยเพนท์พอยท์จากสมาชิกและพันธมิตรที่เป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ พบ 70% ขาดแหล่งทุนเพื่อการขยายธุรกิจ 40% ขาดทีมงานด้านเทคโนโลยี และ 35% ยังไม่มีโมเดลธุรกิจ ล่าสุดเปิดตัวคณะกรรมการสมาคมฯ ชุดใหม่จากหลากหลายอุตสาหกรรมประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยด้วย 3 แกนหลัก รวมสตาร์ทอัพไทยให้เป็นหนึ่ง ผูกพันธมิตรรอบด้าน และสร้างความแตกต่างให้กับสังคม
ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยหรือ “THAI STARTUP” และผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX เปิดเผยว่า จากการสำรวจสมาชิกของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยและพันธมิตรกว่า 100 ราย พบอุปสรรคของสตาร์ทอัพไทย ดังนี้ 70% ขาดแหล่งทุนเพื่อการสเกล หรือ ขยายธุรกิจ 35% ขาดทีมงานด้านเทคโนโลยี และอีก 35% ไม่มีโมเดลธุรกิจ ซึ่งจากเพนพอยท์เหล่านี้สมาคมฯเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางในการปลดล็อกปัญหาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้อัพเลเวลสู่ซีรี่ส์ต่อไป
ล่าสุด สมาชิกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยได้มีมติเลือกนายกสมาคม อุปนายก และคณะกรรมการชุดใหม่จำนวน 16 คน จากธุรกิจสตาร์ทอัพหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อร่วมทำงานสมาคมฯ ให้ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล โดย ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งจะเปิดตัวคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าวเร็ว ๆ นี้
“เรามีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยจากประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ประเทศที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ด้วย 3 แกนหลัก คือ Unite Startups รวมสตาร์ทอัพไทยให้เป็นหนึ่ง Engage Partner ประสาน 10 ทิศ ผูกพันธมิตรรอบด้าน และ Make an Impact ทำให้สตาร์ทอัพมีที่ยืนเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสังคมและเพื่อให้การทำงานของสมาคมฯเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม เราได้แบ่งหน้าความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละท่านให้ครอบคลุมฟังก์ชั่นที่จำเป็นในการผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมฯ ตั้งเป้าไว้” ผศ.ดร. ยุทธนากล่าว
รายนามคณะกรรมการชุดใหม่ประกอบด้วย
- คุณณัฐพร สุชาติกุลวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านพัฒนารายได้ Happenn อุปนายกดูแลด้านการพัฒนาสมาชิกและการตลาด
- คุณธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ผู้ก่อตั้ง ฟอร์เต้ เวนเจอร์ อุปนายกดูแลด้านการกลยุทธ์และการต่างประเทศ
- คุณรับขวัญ ชลดำรงค์กุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย EasyCompany อุปนายกดูแลด้านกฎหมายและนโยบาย
- คุณชื่นชีวัน อานันโทไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง Globish กรรมการและประธานด้านภาพลักษณ์องค์กร
- คุณธนวิชญ์ ต้นกันยา กรรมการผู้จัดการ Horganice กรรมการและประธานด้านการศึกษาและมหาวิทยาลัย
- คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Classwin กรรมการและประธานด้านสิทธิประโยชน์สมาชิก
- คุณภาโรจน์ เด่นสกุล กรรมการผู้จัดการ Zipevent กรรมการและประธานด้านสมาชิก
- คุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ กรรมการผู้จัดการ Vulcan Coalition กรรมการและประธานด้านการมีส่วนร่วมของภาครัฐและกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย
- คุณรัชวุฒิ พิชยาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ Fixzy กรรมการและประธานด้านภูมิภาค
- คุณราชิต ไชยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Accrevo กรรมการและประธานด้านการตรวจสอบและรัฐสัมพันธ์
- คุณวิชัย รามมะเริง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Knockdoor กรรมการและเลขาธิการ
- คุณวีร์ สิรสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Primo กรรมการและประธานด้าน Corporate Partnership
- คุณศักดิ์ศรัณย์ เมธีวัชรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kop Technology กรรมการและประธานด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิก
- คุณศักดิ์สิทธิ์ เลิศไฝ่คุณธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Condothai กรรมการและประธานด้านกิจกรรม
- คุณอมรพล หุวะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Moreloop กรรมการและประธานด้านการเงินและความยั่งยืน
ผศ.ดร. ยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานแรกของสมาคมฯ จากคณะกรรมการชุดใหม่คือ การจับมือกับกรุงเทพมหานครเพื่อจัดงาน HackBKK โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากหลายธุรกิจได้ช่วยกันออกแบบโซลูชันเพื่อประชาชนและตอบโจทย์นโยบายของทางภาครัฐ
ด้าน ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน อุปนายกดูแลด้านการกลยุทธ์และการต่างประเทศ กล่าวว่า “เราได้ทำการ สอบถามสตาร์ทอัพและสำรวจปัญหาและอุปสรรคต่างๆ พบ 7 อุปสรรคหลัก ๆ คือ 70.1% ของสตาร์ทอัพพบปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน 40.2% ของสตาร์ทอัพเจอปัญหาเกี่ยวกับการหา Tech Talent เช่น software engineers, UX/UI designers 35.5% ของสตาร์ทอัพพบปัญหาเกี่ยวกับการสร้างโมเดลรายได้ที่จะทำกำไร 34.6% ของสตาร์ทอัพ นี้บอกถึงปัญหาของผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารสตาร์ทอัพเอง การที่เราต้องใส่หลากหมวกและการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เราไม่สามารถพัฒนาทักษะของตัวเองได้ทัน และเมื่ออยากจ้างคนเก่ง ๆ คนมีประสบการณ์การก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ้างคนเหล่านั้น 31.8% ของสตาร์ทอัพติดปัญหาเรื่องกฏระเบียบต่าง ๆ 30.8% พบอุปสรรคเมื่อต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและพบเจอปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการทำงานที่สามารถบูรณการกันได้มากยิ่งขึ้น 27.1% ของสตาร์ทอัพ พบอุปสรรคเกี่ยวกับการขยายตลาดที่ไม่ใช่แค่กับบริษัทใหญ่ ๆ ในไทย แต่รวมถึงบริษัทข้ามชาติอีกด้วย ซึ่งเราได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ออกมาเป็น 5 Key Strategic Focus เรานำปัญหามารวบรวมและทำการ focus initiatives ของสมาคมฯ เป็น 5 หัวข้อ Management Capabilities การพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริหาร, Regulation & Government Procurement การทำงานร่วมกับภาครัฐ, Tech Talent ช่วยหา Tech Talent, Funding หาแหล่งเงินทุน และ Commercialization ช่วยหาเงิน”
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ ได้ที่
Facebook: Thai Startup – facebook.com
website: thaistartup.org
สมัครสมาชิกสมาคมฯ หรือสนใจเป็นพันธมิตรกับสมาคมฯ ติดต่อ [email protected] หรือ [email protected]