สมาคม ‘Thai Startup’ เผย 6+3 โซลูชั่นแก้ไขปัญหาเพื่อชาวกรุงเทพฯ จากงาน ‘HackBKK’!
บ่ายของวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สมาคม ‘Thai Startup’ และกรุงเทพมหานคร ได้มีจัดเวทีนำเสนอ 6+3 ผลงานจากงาน hackathon ภายใต้โครงการ ‘HackBKK’ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 โดย 6 ผลงาน ‘startup track’ มาจากการคัดเลือกทีมสตาร์ทอัพจาก 65 รายมาร่วมค้นหา solution กับตัวแทนจากสำนักงานภายใต้สังกัด กทม. และอีก 3 ผลงาน ‘public track’ มาจากการนำเสนอจากภาคประชาชนที่ได้รับ popular vote จากเฟสบุ๊คของกรุงเทพมหานครที่ผ่านการคัดเลือกจาก 73 ไอเดียที่ส่งเข้ามา
โดย 6 ผลงานจาก ‘startup track’ มีดังนี้
1.iTAX – การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในกรุงเทพ (เศรษฐกิจดี)
ทีม iTAX เสนอแนวคิด BKKredit สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย เช่น หาบเร่แผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ภายใต้แนวความคิด “เป็นคนดี ที่หาเงินมาคืนได้” โดยกระบวนการประเมินเครดิตจะดำเนินการ โดยอาศัยเพียงข้อมูลที่มีอยู่แล้วของกรุงเทพมหานคร คือข้อมูลทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ได้รับการรับรองจากตัวแทนผู้ค้า และเจ้าหน้าที่เทศกิจถึง ความประพฤติดีของผู้ค้าแผงลอยที่ขอสินเชื่อ ผนึกกำลังในการประเมินและบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อด้วยเทคโนโลยีการจัดทำบัญชีธนาคารและจัดการภาษีอัตโนมัติโดย iTAX bnk ซึ่ง Solution นี้จะเป็นทางเลือกสำหรับส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้ผู้ค้ารายย่อยและลดปัญหาหนี้นอกระบบได้
2.Vulcan Coalition – การสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับกลุ่มคนพิการ (บริการจัดการดี)
ทีม Vulcan Coalition เสนอแนวคิด Bangkok Care Live Chat Agent ร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสำนักงานเขตต่าง ๆ ภายในพื้นที่ กทม. โดยคนพิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อให้บริการเป็น Live Chat Agent จะทำหน้าที่สนับสนุนในการตอบคำถาม และรับเรื่องร้องเรียนที่ได้รับผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย พร้อมทั้งช่วยจัดประเภทข้อมูลและสถานะเรื่องร้องเรียนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดย Vulcan Academy จะเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในของกทม. ได้ ซึ่งด้วย Solution นี้จะทำให้หน่วยงานของ กทม. จ้างงานบุคคลกลุ่มนีี้ได้มากขึ้น และช่วยให้การให้ข้อมูลกับประชาชนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ภายใต้กรอบเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมที่คนพิการมีส่วนร่วมได้
3.Zipevent – ระบบจองพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งกรุงเทพฯ (สร้างสรรค์ดี)
ทีม Zipevent เสนอแนวคิด Public Space Platform ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการสร้าง “แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพ” ช่วยให้ประชาชนที่ต้องการจัดงานในสถานที่ Public Space ของกรุงเทพมหานคร สามารถจองพื้นที่กว่า 500 สถานที่ได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์, สวนสาธารณะหลัก, สนามกีฬา, ศูนย์เยาวชน, พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ) ด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Zipevent เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดกระบวนการทำงานภายในของเจ้าหน้าที่กทม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติใช้งาน เพื่อเป้าหมายในการสร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองแห่งเทศกาลสร้างสรรค์ ที่เกิดจากอีเว้นท์โดยประชาชน เพื่อประชาชน
4. กรุงเทพ-เกาเหลาเป็ด-เวชการ – การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน (สุขภาพดี)
ทีม กรุงเทพ-เกาเหลาเป็ด-เวชการ เสนอแนวคิด BKK Med for All ภายใต้หลักคิด อยู่กรุงเทพฯ รักษาได้ไม่ต้องใช้เส้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีแค่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ แต่กลุ่มเปราะบาง หรือ กลุ่มคนที่มีความต้องการจริงๆ กลับไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขได้โดยตรง ดังนั้น Bangkok Medical for All จึงถูกพัฒนาและออกแบบมา เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการการให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขของระเบียบภาครัฐ และผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครทุกคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ ด้วยเทคโนโลยี และแนวคิดการจัดการแบบ citizen-centric และ open innovation ด้วยแนวคิดนี้จะช่วยติดอาวุธให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุช และสามารถเปิดให้มี trusted nodes จากกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เข้ามาช่วยทำหน้าที่คัดกรอง ด้วยกลไกยืดหยุ่นและตอบสนองแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของกรุงเทพได้หลากหลายระดับ
5.Horganice – ฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้ (โครงสร้างดี)
ทีม Horganice เสนอแนวคิด Housing Stock for First-Jobber ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของ First-Jobber ที่มีมากกว่า 400,000 คน ด้วยเป้าหมายให้มีที่อยู่อาศัย และมีเงินเก็บภายใน 5 ปีของ การทำงาน ผ่านหลักการทำงาน คือ
1. Rentini ซึ่งใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มของ Horganice เป็นตัวกลางในการ จับคู่หอพัก และ First-Jobber ได้หลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล และด้วยโครงสร้างการทำงานของ Rentini จะช่วยลดราคาค่าห้องพักได้ประมาณ 10% ด้วยการนำรายได้ในส่วนของ commission ที่เก็บจากหอพัก มาอุดหนุนในส่วนค่าห้องให้ถูกลง และอัตราคงที่ตลอด 5 ปี 2. จัดตั้งกองทุนอยู่ดีมีออม เพื่อให้ First-Jobber หักเงิน 20% จากฐานเงินเดือนในทุกเดือน และด้วยกลไกการทำงานของกองทุนดังกล่าว เงินเดือนที่หักไว้จะถูกจัดสรรเพื่อจ่ายค่าห้องพัก และเก็บออม โดยบริษัทนายจ้างร่วมสมทบเงินทุนในกองทุนเท่ากับหรือมากกว่ายอดออมสุทธิ 5 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็นอัตราขั้นบันไดตลอด 60 เดือน (5 ปี) ด้วยแนวคิดนี้จะมีส่วนช่วยให้ First-Jobber ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาจบใหม่เข้าถึงแหล่งที่อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ และยังมีเงินออมใน 5 ปีอีกด้วย
6.Baania – ฐานข้อมูลชุมชนและที่อยู่อาศัยกรุงเทพ (โครงสร้างดี)
ทีม บาเนีย (ประเทศไทย) Government Big Data Institute และกรุงเทพมหานคร เสนอแนวคิด Open Data for Better Bangkok เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Big data โดยผนวกฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทั้งสามหน่วยงานมี ในด้านอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลที่กรุงเทพฯ มีอยู่ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสะท้อนศักยภาพของแต่ละเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการเดินทาง การเข้าถึงร้านค้าหรือบริการอื่น ๆ สำหรับต่อยอดในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่รายเขตให้สอดคล้องกับดัชนีความอยู่สบาย อยู่ปลอดภัยของชุมชน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หรือจัดทำผังเมือง เพื่อลดความแออัดของพื้นที่เมือง รวมถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชนทุกวัย และทุกเพศสภาพ
ส่วนอีก 3 ผลงานจาก ‘public track’ ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการส่งไอเดียพัฒนาเมืองและได้รับคะแนนโหวตสูงสุด (Popular vote) ได้แก่
1.Dr.ASA : นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ง่าย รวดเร็ว
ทีมงาน Dr. ASA ซึ่งเป็นการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เสนอแนวคิด “เราอาสามาเป็นหมอในบ้านคุณ” เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านสาธารสุข ภายใต้สโลแกน “อยู่กับหมอก่อนที่จะป่วย ดีกว่าป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ” โดยทีมงานได้พัฒนาแอปพลิเคชันทางการแพทย์ ที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทําให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพได้ด้วยปลายนิ้ว ผ่านกลไก 3C คือ
- Community เติมโอกาสด้วยเครือข่ายหมอและบริการทางการแพทย์ เพื่อทําให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์สุขภาพได้มากขึ้น
- Community เพิ่มเติมความรู้ด้านสุขภาพ และป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
- Coach เติมเวลาด้วยการให้บริการ AI scan เปรียบเสมือนหมอประจําตัวผู้ใช้บริการที่จะช่วยดูแลสุขภาพของคุณตลอด 24 ชั่วโมง
ซึ่งจะช่วยลดภาระการทํางานของหมอและการมาโรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น ซึ่งด้วยแนวคิดนี้จะช่วยให้การบริการสาธารณสุขเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ด้วย Slogan: Dr. Asa, Doctor for People
2.ViaBus : การเดินทาง วางแผนได้
ทีมงาน ViaBus นำเสนอแนวคิด “ViaBus แอปขนส่งโดยสารเรียลไทม์” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟรี บนสมาร์ทโฟน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลระหว่างผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถสาธารณะ สำหรับให้ผู้โดยสารติดตามและวางแผนการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการแล้วจริงสำหรับการดำเนินการผ่านรถโดยสาร ผ่านกลไกการติดตามรถได้แบบ Real-time (ด้วยระบบ GPS) การเรียกดูข้อมูลสายป้ายด้วยรถเมล์ ค้นหาวิธีเดินทาง แจ้งเหตุแนะนำติชม โดยมีแผนจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมการขนส่งโดยสารในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการเดินทางทั้งรูปแบบ รถ ราง เรือ เพื่อให้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้น ไม่ต้องรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป
3.หวังเมืองดี : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานระดับเขต
ทีมงาน หวังเมืองดี นำเสนอแนวคิด “เขตประชุมชน” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้สภาประชาคมเขตมีความเป็นดิจิตอล เข้าถึงคนได้ง่ายและมากที่สุด เพื่อเป็นการโอบรับผู้คนในเขตต่างๆ ของ กทม. โดยมีกลไกหลักเชื่อมโยงชาวกรุงเทพฯ ที่เป็นตัวแทนประชาชนผู้อาศัยในย่านนั้น กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ ให้สามารถเสนอวาระในสภาประชาคมขึ้น และแบ่งปันเพื่อรับการสนับสนุนจากบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเขตเพื่อเสนอเรื่องไปยังผู้บริหารเขต และยังสามารถตรวจสอบติดตามความคืบหน้าของวาระต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส ในขณะเดียวกันด้วยแพลตฟอร์มนี้ ผู้อำนวยการเขตก็จะได้รับทราบวาระที่เกิดขึ้น พิจารณารับเรื่อง รายงานหรือติดตามความคืบหน้าของวาระต่างๆ ได้ ด้วยแนวความคิดนี้จะช่วยสร้างกลไกการสื่อสารระหว่าง คนกทม. และผู้บริหารเขต เพื่อสร้างโมเดลการออกแบบนโยบายภายใต้กรอบ People-centred design approaches และเพื่อให้ผู้อำนวยเขตปฏิบัติต่อประชาชนแบบ “หันหลังให้ผู้ว่า และหันหน้าให้ประชาชน”อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (แถวที่ 3 คนที่ 4 จากทางซ้าย), ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต (แถวที่ 3 คนที่ 5 จากทางซ้าย), ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (แถวที่ 3 คนที่ 2 จากทางซ้าย) และ ผศ.ดร.ยุทธนา (มิกกี้) ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup (แถวที่ 3 คนที่ 3 จากทางซ้าย) ในการรับฟังการเสนอไอเดียเพื่อนำไปต่อยอดและปรับใช้กับกรุงเทพมหานครต่อไป
#HackBKK #ThaiStartup #บางกอกวิทยา